วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ทฤษฎีการเรียนรู้

ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา มีสำนักคิดทางด้านทฤษฎีการเรียนรู้(learning theory) ที่มีบทบาทโดดเด่น 3 สำนักด้วยกัน คือ สำนักพฤติกรรมนิยม(behaviorism) สำนักปัญญานิยม (cognitivism) และสำนักสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยปัญญา (constructivism) (Baruque & Melo, 2004, p. 346) อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (social learning theory) ของ Banduraซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญของสำนักพฤติกรรมนิยมสมัยใหม่ (modern behaviorism)ซึ่งมีรายละเอียดของแนวคิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (ภิภพ ชวังเงิน, 2547, หน้า 400)

สำนักพฤติกรรมนิยม (behaviorism)

จุดเน้นของสำนักพฤติกรรมนิยม คือ สภาพแวดล้อมภายนอกเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคล (Baruque & Melo, 2004, p. 346) ซึ่งหมายความว่า พฤติกรรมของคนเราจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมหรือสิ่งเร้าที่ถูกสร้างขึ้น หรือที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ (ไพบูลย์ เทวรักษ์, 2540, หน้า 25) ประกอบด้วยทฤษฎีสำคัญ ๆ เช่น

1. แนวคิดของ Watson ระหว่างปี ค.ศ. 1878-1958 เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดพฤติกรรมนิยม โดยหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงจิตใจของคน Watson เสนอว่า พฤติกรรมของคนเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและสิ่งเร้าที่ถูกสร้างขึ้นและที่มีอยู่ตามธรรมชาติพฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามปฏิกริยาภายในของร่างกาย เช่น ระบบประสาทและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ไพบูลย์ เทวรักษ์, 2540, หน้า 25) แนวคิดของ Watsonทำให้เชื่อว่า พฤติกรรม บุคลิกภาพ และการแสดงออกซึ่งอารมณ์ของคนเราต่างก็เป็นพฤติกรรมที่ถูกเรียนรู้ทั้งนั้น (Bolles, 1975, p. 54)

2. ทฤษฎีการลองผิดลองถูก (trial and error learning theory) ของ Thorndikeระหว่างปี ค.ศ. 1874-1949 นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มทำการทดลองในสัตว์เกี่ยวกับการเรียนรู้ โดยศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ของแมว ด้วยการจัดทำกรงทดลองเพื่อขังแมว ซึ่งกรงดังกล่าวจะมีประตูเปิดและปิด โดยใช้ห่วงผูกติดกับเชือกที่เชื่อมต่อไปยังกลอนประตู และมีการวางอาหารไว้ที่ด้านนอก หากแมวตะปบที่ห่วงจะทำให้ประตูเปิดและสามารถออกไปกินอาหารที่อยู่ด้านนอกได้ ในระยะแรก ๆ แมวมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างสะเปะสะปะในการการหาทางออกจากกรง แต่เมื่อแมวดึงที่ห่วงโดยบังเอิญ จึงทำให้สามารถออกจากกรงได้ และเมื่อทำการทดลองซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แมวก็แสดงพฤติกรรมที่ฉลาดในลักษณะที่เรียกได้ว่า เป็นการเรียนรู้เพื่อหาทางออกจากกรง อันเป็นผลมาจากประสบการณ์นั่นเอง จากการทดลองอย่างต่อเนื่องทำให้ Thorndike ค้นพบกฎการเรียนรู้ที่สำคัญ 3 ประการ คือ กฎผลที่ได้รับ (law of effect) ซึ่งอธิบายว่า พฤติกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลได้รับผลตอบแทนในสิ่งที่ตนปรารถนา กฎการฝึกหัด (law of exercise)อธิบายว่า พฤติกรรมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำซ้ำ และเมื่อมีการปฏิบัติซ้ำมากขึ้นก็จะเกิดความชำนาญ และกฎความพร้อม (law of readiness) อธิบายว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีความพร้อมที่จะกระทำ (Bolles, 1975, pp. 3-16) นอกจากนั้น ตามแนวคิดนี้เห็นว่า การให้รางวัลเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ (ภิภพ ชวังเงิน, 2547, หน้า 399)

3. ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (classical conditioning theory) ของ Pavlov ระหว่างปี ค.ศ. 1849-1936 ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย ผู้ริเริ่มศึกษาทดลองการวางเงื่อนไขให้สุนัขหลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง (ไพบูลย์ เทวรักษ์, 2540, หน้า 13) อย่างไรก็ตาม ความสนใจเริ่มแรกของ Pavlov นั้นไม่ได้ต้องการสร้างทฤษฎีการเรียนรู้ แต่ต้องการพัฒนาเทคนิคในการศึกษาสมอง (Bolles,1975, p. 38) แต่ผลการศึกษาของเขาได้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการวางเงื่อนไขที่ก่อให้พฤติกรรมเกิดการเรียนรู้ต่าง ๆ มากมาย (ไพบูลย์ เทวรักษ์, 2540, หน้า 20)

4. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขปฏิบัติการ (operant condition learning) ของ Skinnerระหว่างปี ค.ศ. 1904-1990 ซึ่งมีแนวคิดสำคัญ คือ พฤติกรรมเป็นสมการของผลลัพธ์ของการแสดงพฤติกรรมนั้น (Robbins, 2003, p. 45) ผลจากการแสดงพฤติกรรม เป็นสิ่งควบคุมโอกาสในการเกิดพฤติกรรมนั้นขึ้นมาอีก ถ้าการแสดงพฤติกรรมนั้นได้ผลจากการกระทำเป็นที่พอใจ โอกาสที่จะเกิดพฤติกรรมแบบเดิมจะมีสูงมากเมื่อสิ่งเร้าเดิมปรากฎขึ้นมา (สิทธิโชค วรานุกูลสันติ, 2546, หน้า 51) ในทางกลับกัน หากการแสดงพฤติกรรมนั้นไม่ได้รับรางวัลตอบแทน แต่มีการลงโทษ โอกาสที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำก็น้อยลงด้วย (Robbins, 2003, p. 46)


บรรณานุกรม

ไวพจน์ กุลาชัย (2552). การเมืองในองค์การและทัศนคติของข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับประสิทธิผลขององค์การ, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ไพบูลย์ เทวรักษ์. (2540). จิตวิทยาการเรียนรู้ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ เอส ดี เพรส การพิมพ์.

ภิภพ ชวังเงิน. (2547). พฤติกรรมองค์การ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรพิทยา.

สิทธิโชค วรานุกูลสันติ. (2546). จิตวิทยาสังคม: ทฤษฎีและการประยุกต์. กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์เม็ดทรายพริ้นติ้ง.

Baruque, L. B., & Melo, R. N. (2004). Learning theory and instructionaldesign using learning objects. Journal of Educational Multimedia and Hypermedia, 13(4), 343-370.

Bolles, R. C. (1975). Learning Theory. New York: Holt Rinehart and Winston.

Robbins, S. P. (2003). Organizational behavior (10th ed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

6 กรกฏาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น