ถ้าจะมีอะไรซักอย่างที่เข้าใจยากแสนยาก ก็คงเป็นจิตใจของมนุษย์เรานี่แหละ อย่าว่าแต่จะไปเข้าอกเข้าใจความรู้สึกนึกคิดคนอื่นเล้ย เอาแค่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองก็หนักหนาสาหัสแล้ว
แต่มีรึที่มนุษย์เราาจะยอมแพ้ ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปัญหาคาใจ ศาสตร์ของจิตวิทยาจึงถือกำเนิดขึ้น และนักจิตวิทยาก็กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เราสามารถมองทะลุเข้าไปถึงเบื้องลึกความคิดและจิตใจของทั้งตัวเราและเพื่อนร่วมโลก
หลักการและแนวคิดพื้นฐานง่ายๆ ของนักจิตวิทยาอาจช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ยิ่งถ้าฝึกฝนให้ตัวเองรู้จักวิเคราะห์และเข้าใจ "คน" ตามแนวทางจิตวิทยาแล้วละก็ การอ่านใจคนอื่นก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
1. คนที่ดูดีพร้อมสรรพไปเสียทุกอย่าง
อาจไม่ใช่คนที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์เหมือนภาพที่เห็นจากภายนอก หลักง่ายๆ ที่จะดูว่าคนๆ นั้นมีสุขภาพจิตที่ดีหรือไม่นั้น ให้สังเกตุความสัมพันธ์ของเขากับคนใกล้ตัวเช่นครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน
2. การเลี้ยงดูและความรักพื้นฐานจากครอบครัวในวัยเด็ก
คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับคนเรา และผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กก็คือแม่ แม่ที่มีความหนักแน่นทางอารมณ์จะสามารถสร้างเกราะคุ้มกันทางจิตใจชั้นดีให้กับลูกได้ นอกจากนี้การทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของตัวคุณกับครอบครัว จะช่วยทำให้คุณรู้จักตัวเองดียิ่งขึ้น
3. คนที่บอกว่าเขาจำเรื่องราวในวัยเด็กของตัวเองไม่ได้
มักเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ การที่คนเราไม่สามารถจดจำเรื่องราวในวัยเด็กของตนได้ส่วนใหญ่แล้วมักมาจากการที่สมองได้สั่งให้เราลืมเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในช่วงเวลานั้นไป และมีผลทำให้คนๆ นั้นไม่รู้จักที่มาที่ไปและตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
4. ส่วนใหญ่แล้วคนที่ก้าวร้าวและชอบทำร้ายผู้อื่น
มักจะเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน นี่คือวงจรอุบาทว์ของผู้ถูกกระทำที่ในที่สุดแล้วก็ผันตัวมาเป็นผู้กระทำเสียเอง การจะยุติวงจรนี้ได้ต้องเริ่มต้นโดยหยุดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
5. ถึงแม้ทฤษฎีหลายทฤษฎีพยายามที่จะบอกว่าความรู้สึกนึกคิด
คือแรงขับที่มีบทบาทกับคนเรามากกว่าแรงขับพื้นฐานอย่างเซ็กส์ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เซ็กส์คือแรงขับทางธรรมชาติที่มีผลกับพฤติกรรมของคนเราอย่างยิ่ง ประวัติและพฤติกรรมทางเพศสามารถบอกอะไรลึกๆ เกี่ยวกับคนๆ นั้นได้อย่างที่เราคาดไม่ถึงทีเดียว
6. ลึกๆ แล้วคนเรามีความต้องการพื้นฐานที่ไม่ต่างกัน
เราต่างต้องการให้ตัวเองเป็นที่รักของคนอื่นและรู้สึกความมั่นคงปลอดภัย ลำพังความมั่งคั่งทางวัตถุไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานนี้ได้ แต่ต้องอาศัยการเติมเต็มทางอารมณ์และจิตใจ
7. เมื่อคนเรารู้สึกอ่อนแอ
เรามักจะแสดงออกในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่แท้จริง นี่คือกลไกการปกป้องตัวเองตามธรรมชาติที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังอ่อนแอ คนที่ชอบโอ้อวดคุยโต มักเป็นคนที่สร้างปมเด่นเพื่อปิดบังปมด้อยที่ว่าตัวเองด้อยค่ากว่าคนอื่น
8. หากรู้จักสังเกตุและวิเคราะห์แล้ว
สิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันสามารถบอกอะไรเกี่ยวกับพื้นฐานทางจิตใจของคนเราได้มากมาย เช่นวิธีการบอกลาเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางอารมณ์ จริงอยู่ที่คนเราทุกคนกลัวการแยกจากคนที่เรารัก แต่ในที่สุดแล้วเราก็จะค่อยๆ ปรับภาพจิตใจให้ยอมรับความเป็นจริงได้ แต่คนที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ ก็จะปรับตัวให้ยอมรับสภาพได้ยาก กว่าจะจากกันได้ก็อ้อยอิ่ง ลาแล้วลาอีกไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ กว่าจะได้จากกันจริงๆ ต้องรอจนถึงนาทีสุดท้าย และเมื่อต้องแยกจากกันจริงๆ ก็เกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรัง หรือถ้าคุณเจอกับใครเป็นครั้งแรก และเขาเล่าทุกเรื่องในชีวิตของเขานับตั้งแต่ลืมตาดูโลกให้คุณฟัง ก็ให้พึงระวังไว้เลยว่าสภาพจิตของเขาคงไม่ปกติแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น