วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555
นักจิตวิทยาใครว่าไม่สำคัญ
นักจิตวิทยาใครว่าไม่สำคัญ เมื่อปัญหาทางจิตเป็นตัวบ่อนทำลาย ความสุขของชีวิตเกือบทั้งหมด
นักจิตวิทยาต่างกับจิตแพทย์
นักจิตวิทยา คือผู้ที่เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆของคน ทั้งปกติและไม่ปกติ ตั้งแต่เกิดจนตาย หรือเป็นพิเศษเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
และบางทีศึกษาพฤติกรรม ของสัตว์ด้วย เนื่องจากจิตวิทยามีหลายสาขา อาจเรียนจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้นๆ
ยกตัวอย่างจิตวิทยาทหาร ก็เรียนเกี่ยวกับการรบ การรู้ใจข้าศึก การทำสงคราม จิตวิทยาต่างๆ จิตวิทยาโรงเรียนก็พูดถึงพัฒนาการของเด็ก
ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ จำ เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ประเมินค่าต่างๆ
ถ้าเป็นจิตวิทยาคลีนิค จะเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผิดปกติ พฤติกรรมที่ผันแปร หรือป่วยไป ถ้าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ก็ต้องเปลี่ยนโดยวิธีของนักจิตวิทยา เช่น อาจทำจิตบำบัด ทำพฤติกรรมบำบัดในเทคนิคต่างๆ จิตวิทยามีหลายสาขามากมาย
ส่วน จิตแพทย์นั้น ต้องเรียนแพทย์ ให้ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ก่อน จากนั้น จึงเรียนเป็น จิตแพทย์ เน้นเกี่ยวกับการรักษา
ที่เรียกว่าเวชศาสตร์เป็นสำคัญ และเน้นการรักษา ที่ใช้ยาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์อาจมีวิธีรักษาแบบอื่นประกอบ เช่น
ใช้จิตบำบัด เช่นเดียวกับนักจิตวิทยาก็ได้ แต่ความต่างของสองวิชาชีพนี้ ก็คือ จิตแพทย์ต้องเป็นแพทย์ มาก่อน
ค่อยไปเรียนต่อวิชาเวชศาสตร์เหมือนกับแพทย์ทั่วๆ ไป ที่เรียนต่อแพทย์ เฉพาะทางสาขาต่างๆ นักจิตวิทยา ในประเทศไทย
เรียนจิตวิทยาระดับปริญญาโท แต่ในอเมริกานักจิตวิทยาที่จะทำคลีนิคได้ ต้องเป็นปริญญาเอก
ระหว่างนักจิตวิทยา กับจิตแพทย์ ใครรู้เรื่องพฤติกรรมมนุษย์ มากกว่า
ตามหลักการแล้ว จิตแพทย์ จะเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์น้อยกว่านักจิตวิทยา เพราะฉะนั้น บริการของโรงพยาบาล จิตเวชทั้งหลาย
จะมีนักจิตวิทยาคลีนิคอยู่ด้วย ในกรณีที่ พฤติกรรมแปรปรวนมาก จิตแพทย์อาจต้องการ ทราบพฤติกรรมผู้ป่วย ในเชิงรายละเอียด
หรือต้องการทราบเชิงลึกเพื่อวางแผนรักษาก็ให้นักจิตวิทยาศึกษา เพื่อวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้ป่วย ตอนนี้ป่วยมากไหม
และแนวโน้มจะหายในอนาคต มากไหม เพื่อช่วยในเชิงของการพยากรณ์โรค เพราะฉะนั้น นักจิตวิทยาในโรงพยาบาล จิตเวช
จะมีลักษณะหน้าที่หลัก ๒ อย่าง คือ
ประการแรก ทำหน้าที่คล้ายห้องแล็บทดลองให้จิตแพทย์ โดยจะพาผู้ป่วย มาเข้าห้องแล็บ เรียกว่าเป็นห้องทดลอง
ห้องทดสอบตามหลักจิตวิทยา จะให้ทดลองทำแบบทดสอบ ทางจิตวิทยา* หรือกรณีต่างๆ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้
หรือกระบวนการคิด กระบวนการจำต่างๆ เพื่อ ให้ได้สาเหตุของอาการแปรปรวน ตามที่จิตแพทย์ ร้องขอมา
เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งผลการตรวจเลือด ให้แพทย์ที่รักษาคล้ายๆอย่างนั้น
อีกประการหนึ่ง คือ รักษาด้วยแต่เป็นการรักษาทางจิตวิทยา หรือใช้วิธีรักษา ที่เรียกว่า จิตบำบัด และพฤติกรรมบำบัด
ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก แต่จะจ่ายยาให้คนไข้ไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย จิตแพทย์เท่านั้นที่มีสิทธิจ่ายยา เช่น
ยากล่อมประสาท หรือยาระงับประสาท เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือควบคุมพฤติกรรมของคนไข้ส่วนหนึ่งต้องใช้ยา
ในกรณีที่คนไข้ฟุ้งซ่าน ยาก็จะช่วยผ่อนคลายได้ หรือในกรณีที่คนไข้ซึมเศร้ามาก ยาก็จะช่วย ให้มีอารมณ์เบิกบานขึ้น
แต่ว่ายาก็คือยา จะมีผลแค่ช่วงที่ยาออกฤทธิ์ อาจเป็น ๒๔ ชั่วโมงหรือเท่าไรก็แล้วแต่ หลังจากหมดฤทธิ์ยา
คนไข้ จะกลับสู่สภาพเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าเราเรียนรู้ พฤติกรรมคนไข้รายนี้ว่าไม่เข้มแข็งพอหรือไม่ดีพอ
ขณะที่ผู้ป่วยสามารถคุมอารมณ์ได้ ช่วงนั้นเราจะช่วยเปลี่ยน พฤติกรรม คนไข้ ให้เข้มแข็งขึ้น
พอหมดฤทธิ์ยา พฤติกรรมเข้มแข็งนั้น จะได้ยังอยู่ต่อไป
การเปลี่ยนพฤติกรรม
มีมากมายหลายวิธี เช่น พูดคุย ปรับทุกข์ ชี้ทางออก ก็เหมือนกับเวลาเพื่อนมีปัญหา ทุกข์ใจ มาเล่าให้ฟัง
เราก็เพียงแต่รับฟัง รับรู้เท่านั้น คนไข้ก็สบายใจขึ้นได้ระดับหนึ่ง แต่นักจิตวิทยาอาจให้คำแนะนำมากกว่านั้น
เช่น คุณก็ทำอย่างนี้ซิ ๑,๒,๓,๔ และคนไข้ก็เลือกใช้วิธี ตามที่เหมาะสม กับสถานการณ์ หรือคิดว่าเหมาะสมกับตน
โรคทางจิตผู้ป่วยต้องช่วยดูแลตัวเองด้วย
โรคทางกายต่างๆ ผู้ป่วยก็ต้องแก้ไขที่ตัวเอง ด้วยเหมือนกัน เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคทางกาย อื่นๆ แต่คนไทยมักชอบระบบอุปถัมภ์
ไม่ค่อย ช่วยตัวเองเช่น มีปัญหา เรื่องฟัน ทันตแพทย์ ช่วยได้เฉพาะการรักษา ส่วนการป้องกันฟันผุ เจ้าของฟัน ต้องช่วยเหลือตัวเอง
ดูแลรักษาฟันตั้งแต่เริ่มแรก แต่โรคทางจิตอาจค่อนข้างชัดเจน ที่คนไข้ต้องช่วยตนเองมากกว่าโรคอื่นๆ
ที่จริงแล้วการรักษาทั้งปวงในโลกนี้ ไม่ว่าจะรักษา แผนไทย แผนฝรั่ง หรือการรักษา แบบสมัยใหม่ ผู้ป่วยต้องช่วยเหลือ
ตัวเองอยู่แล้ว โดยธรรมชาติ และคนไข้พวกนี้ก็จะหายได้เร็วกว่า
ปัจจุบัน สงฆ์น่าจะทำหน้าที่ช่วยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์อย่างสมัยก่อนได้
คงพร้อมระดับหนึ่ง เพราะว่ามีพระสงฆ์ ไม่มากนักที่จะเข้าใจโลกภายนอก เท่ากับโลกในแวดวงของสงฆ์เอง ท่านอาจไม่ค่อยรู้เรื่อง
ของสังคมปัจจุบันมากนัก หรือรู้ไม่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ถ้าพระสงฆ์จะทำหน้าที่เป็นจิตแพทย์ในชุมชน
เป็นตัวแทนนักจิตวิทยาในชุมชน ก็คงจะทำได้ระดับหนึ่ง เว้นแต่ว่าพระสงฆ์ท่านนั้น มีความเข้าใจ เรื่องทางโลกจนรู้เท่าทัน
และสามารถพูด คุยกับชาวบ้านได้เข้าใจ ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เคยเห็น ท่านก็ถนัดในวิธีของท่าน
โดยรู้โลกปัจจุบันไม่มากนัก
แต่พระสงฆ์ก็สามารถเข้าถึงชุมชนได้ดี
และสามารถแนะแนวทางการดำเนินชีวิตทำให้ชุนชนอยู่ดีมีสุขได้ดียิ่งขึ้น และในปัจจุบันนี้ก็มีพระสงฆ์ที่ศึกษาทางจิตวิทยา
ที่เรียกว่าพุทธจิตวิทยา ยิ่งไปกว่านั้นในเรื่องของพระอภิธรรมซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางจิตล้วนๆ
พระสงฆ์ก็มีการศึกษาในจิต เจตสิก รูป นิพพาน จะมีการแยกจิตในพระอภิธรรมออกเป็นดวงๆให้เห็น
ซึ่งจะเจาะลงลึกกว่าจิตวิทยาของตะวันตกเสียอีก ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้
เป็นศาสนาที่สอนให้คนรุ้จักทุกข์ และหนทางพ้นทุกข์ ในขณะที่โลก สังคม ครอบครัว บุคคล
ขณะนี้เต็มไปด้วยทุกข์ทั้งทางกาย จิตใจ สังม สิ่งแวดล้อม คนไทยมีทุกข์ก็ไปหา พระ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคม เป็นต้น
คนไทยจะรู้สึกไม่ปกติ เมื่อต้องหาจิตแพทย์
มันเป็นคล้าย ตราบาปติดตัวอย่างหนึ่ง ถ้าใครเข้าโรงพยาบาลศรีธัญญา หรือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นเยอะ
ในต่างประเทศ เขาเรียนรู้กันมานาน จนเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา เขาเรียนตั้งแต่ในหลักสูตรชั้นมัธยมว่า
คนไข้โรคจิตชนิดหนึ่งซึ่ง popular ที่สุดคือ โรคจิตเภทหรือสกิโซฟรีเนีย (schizophrenia) รูปร่างเป็นอย่างนี้
มีอาการอย่างนี้ จะช่วยบำบัด เยียวยาอย่างไร ซึ่งการศึกษาของเรายังไม่มีตรงนี้ เพราะฉะนั้นความเป็นมา จึงต่างกัน
ฝรั่งเขาพยายาม ทำให้เป็นหลักวิทยาศาสตร์ แต่ของเรา มันเริ่มต้นมาจาก ไสยศาสตร์และ ความเชื่อผีบ้า
เราโทษที่ผีทำให้คนเป็นบ้า เมื่อเริ่มต้นที่ผี มันก็น่ากลัว คนก็ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง
โอกาสที่คนควรพบกับจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา
ขอแนะนำว่า ๑. เมื่อชีวิตประจำวัน มีการเปลี่ยนแปลงไปต่างไปจากที่เคยๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการกินอยู่หลับนอน เช่น
เคยกิน ได้ปกติก็กินได้น้อยลง หรือไม่กินเลย เพราะ กินไม่ลง หรือกินมากเกินไป ๒. ความเป็นอยู่ ก็อยู่อย่างไม่เป็นสุข
แต่ก่อนคุย กับพรรคพวกเพื่อนฝูงได้ดี ทำงานได้ดี ตอนหลังโดดเดี่ยวตัวเองออกไปจากสังคม ๓. การหลับนอนก็หลับไม่เป็นสุข
หรือนอนไม่หลับ หรือหลับแต่ ละเมอฝันร้ายต่างๆ ชีวิตประจำวันผันแปร เบี่ยงเบนไป สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณอันหนึ่ง
ที่เตือนว่า เราน่าจะไปปรึกษาจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา หรือผู้ชำนาญการ
คำว่าจิตแพทย์ในทางปฏิบัติคงไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้ชำนาญทางจิต Psychiatrist ตามนัยของฝรั่ง
เพราะจิตแพทย์ของท่านนายกทักษิณ ก็เป็นหลวงพ่อองค์หนึ่ง (พระอิสระมุนี วัดธรรมวิหารี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี)
ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ ที่น่านับถือ เป็นต้น หรืออาจเป็นวงศาคณาญาติ ที่มีประสบการณ์ผ่านโลกมาเยอะ นั่นคือจิตแพทย์
ในลักษณะหนึ่งสำหรับเราเหมือนกัน ถ้าไปหาผู้ชำนาญทางจิต Psychiatrist ตามนัยฝรั่ง บ้านเรามีเพียง ๓๐๐-๔๐๐ คน
ซึ่ง เทียบกับประชากร ๖๒ ล้านคนแล้ว ก็ไม่เพียงพอ แน่นอน แม้แต่นักจิตวิทยา ก็ยังมีไม่มากเท่าไร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น